COLUMNIST

มองพลังงานทดแทนไทยผ่านเศรษฐกิจอาเซียน
POSTED ON -


 

ความลำบากใจของนักพูด นักเขียนและนักวิชาการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนก็คือ การนำเอาเรื่องของพลังงานทดแทนมาผนวกกับเศรษฐกิจของอาเซียนที่หลากหลาย มีทั้งเหมือนทั้งแตกต่าง หลากหลายมุมมอง ยากแก่การเปรียบเทียบว่าประเทศใดดำเนินนโยบายได้ดีที่สุด สำหรับไทยแล้วฟันธงได้เลยว่า เรื่องของพลังงานทดแทนเป็นความจำเป็นในการพัฒนาไม่ใช่ CSR ของประเทศ

 

เมื่อหลายเดือนก่อนที่องค์กรระหว่างประเทศแห่งหนึ่งจัดลำดับออกมาว่าประเทศไทยมีระบบการเรียนการสอนล้าหลังเกือบที่สุดในอาเซียน ผลิตมนุษย์ท่องจำออกมาพัฒนาประเทศเต็มถนน บรรดานักการศึกษาทำทีท่าว่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจากท่องเป็นคิด แต่เพียงไม่กี่เดือน ครูบาอาจารย์ทั่วประเทศก็กลับสั่งท่องจำหนังสือเหมือนเดิม

 

คำถามก็คือ แล้วทำไมมนุษย์ท่องจำเหล่านี้ยังพัฒนาประเทศไปได้ สาเหตุอาจเนื่องจากสถาบันครอบครัวที่แข็งแกร่งของไทยที่ช่วยเป็นโรงเรียนกวดวิชาสอนให้คิดสอนให้มีวิสัยทัศน์แทนสถาบันการศึกษาแต่ก็มีข้อเสียคือเป็นการโคลนนิ่งแนวคิดและอาชีพของครอบครัวไปด้วย ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่าพ่อแม่ทำอาชีพใดทายาทมักจะทำอาชีพนั้นไปด้วย ทั้งนี้ จะเป็นเรื่องดีหรือร้ายไม่ขอออกความเห็นเนื่องจากเรื่องนี้ผงก็เข้าตาผู้เขียนด้วยเหมือนกัน

 

เศรษฐกิจไทยในอาเซียนและกลุ่มประเทศ AEC Plus

 

กลุ่มประเทศเนื้อหอมด้านเศรษฐกิจอย่างอาเซียน มีหรือที่ 2 ยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจในเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่นจะมองข้ามความสำคัญไปโดยไม่ทำอะไรเลยสำหรับประเทศจีนแล้วมีกิจกรรมร่วมกับกลุ่มอาเซียนอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการผูกมิตรทิศใต้ หรือการประชุมสัมมนาใหญ่ ๆ อาเซียนจีนหรือจีนอาเซียนเป็นสัญญาณชัดเจนว่าจีนเดินหน้าขอบัตรคิวเบอร์ 1 ไปแล้ว

 

ส่วนญี่ปุ่นถึงแม้จะเผชิญวิบากกรรมทั้งด้านเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติ แต่ก็ยังอาศัยทุนเดิมที่ลงทุนในกลุ่มอาเซียนไว้ก่อนแล้วค่อย ๆ ต่อยอดถือบัตรคิวเบอร์ 2 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ทางศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยจึงเรียกสองประเทศนี้ว่าเป็น AEC Plus คงไม่ผิด

 

จากตารางที่ 1 เป็นการเรียงลำดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ซึ่งมนุษย์ท่องจำอย่างประเทศไทย ความสามารถในการแข่งขันลดลง 1 อันดับจากปี 2554 ส่วนกลุ่มประเทศCLMVซึ่งหมายถึง ประเทศกัมพูชา ลาว เมียนม่าร์และเวียดนาม ถือว่ายังเป็นประเทศพัฒนาน้อยกว่าอีก 6 ประเทศ จึงได้สิทธิพิเศษมากมายเมื่อเข้าสู่ AEC บางประเทศจึงยังไม่ได้รับการจัดอันดับ

 

มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน

 

ผู้อ่านอย่าเพิ่งเบื่อดูตารางตัวเลขที่นำเสนอเนื่องจากหากพูดถึงประเทศในอาเซียน 10 ประเทศแล้ว ข้อมูลส่วนใหญ่จึงเป็นในเชิงเปรียบเทียบ จากข้อมูลที่ปรากฏสรุปได้ว่าปี 2556 ประเทศไทยยังได้เปรียบดุลการค้าในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากมีการนำเข้า 40,339.94 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออก 56,730.06 ล้านเหรียญสหรัฐ และประเทศที่ไทยส่งออกและนำเข้ามากที่สุดก็คือ มาเลเซีย เพื่อนบ้านคู่ค้าคู่แข่งของเรานี่เอง

 

พลังงานทดแทนในอาเซียน

 

หลังจากอ่านข้อมูลเศรษฐกิจเปรียบเทียบเพื่อนบ้านอาเซียนโดยรวมแล้ว มาดูว่ากลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ผลิตพลังงานทดแทนใช้กันกี่เปอร์เซนต์  จากข้อมูลของ ASEAN Centre for Energy กระทรวงพลังงาน ได้รวบรวมข้อมูลในปี 2554และเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ดูแล้วน่าสบายใจว่าชาวอาเซียนใช้พลังงานทดแทนถึง30% ของพลังงานที่ใช้กันจริงๆ ในปัจจุบัน

 

แต่ที่อดเป็นห่วงไม่ได้ก็คือ ในข้อมูลระบุว่าเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง (Installed Capacity) ถ้าจะแปลไทยเป็นไทยก็คือ คำนวณจากความสามารถของเครื่องจักรอุปกรณ์ในการผลิตพลังงานทดแทน ไม่ใช่ปริมาณพลังงานที่ผลิตใช้จริงสำหรับประเทศไทยกำลังการผลิตติดตั้งและปริมาณที่ผลิตจริงค่อนข้างแตกต่างกันมากอาจจะเกือบถึง 50% สาเหตุมีที่มามากมาย และล้วนมีเหตุผลที่น่ารับฟัง แต่ก็น่าจะรีบแก้ไขด้วยเช่นกัน 

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลย้อนหลังไปปี 2549 ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานทดแทนในอาเซียนมีเพียง 22.56% นั่นหมายความว่า 5 ปีที่ผ่านมา อาเซียนมีพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นถึง 7%

               

หากจะวิเคราะห์พลังงานทดแทนในอาเซียนอย่างย่อที่สุดแล้ว  กลุ่ม CLMV คงจะเป็นการเริ่มต้นและวางแผนป้องกันประเทศให้มีความพร้อมด้านพลังงานทดแทนมากกว่าเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ด้านทรัพยากรพลังงานส่วนอีก 6 ประเทศที่ถูกวางตำแหน่งเป็นพี่ใหญ่ในอาเซียนนั้น  ไทยเราน่าจะมาอันดับ 1 ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ หรือไม่ก็อินโดนีเซีย

 

สำหรับบรูไนและสิงคโปร์ไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่มีพื้นที่ในการสร้างพลังงานทดแทนอยู่แล้ว ส่วนมาเลเซียก็มีพลังงานเหลือเฟือใช้ไม่หมดอยู่ในขณะนี้และมีข้อสังเกตที่น่าสนใจจาก IEA (International Energy Agency) ว่าไทยกับอินโดนีเซียมีความเสี่ยงเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่สูงมาก ดังนั้นการเพิ่มพลังงานทดแทนก็น่าจะเป็นการลดความเสี่ยงวิธีหนึ่ง

 

ขอย้ำว่าพลังงานทดแทนสำหรับประเทศไทยเป็นความจำเป็นเป็นการเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ไม่ใช่ CSR แต่ประการใด ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรหันหน้าเข้าหากันและร่วมพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ เริ่มต้นที่ “One Stop Service” ก่อนดีไหม?